ประวัติความเป็นมา


ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา ก่อตั้งขึ้นพร้อมคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตามประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2515
ในระยะเริ่มแรก ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา ได้ปฏิบัติงานร่วมกับภาควิชาจักษุ โดยใช้ชื่อร่วมกันว่า ภาควิชาจักษุ โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา แม้ว่าอยู่ภายในภาควิชาเดียวกัน ในทางปฏิบัตินั้นหน่วยทั้งสองเป็นอิสระซึ่งกันและกันทั้งในด้านงานบริหารบุคคล การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนและการจัดหาครุภัณฑ์
การดำเนินงานในระยะเริ่มแรกคณะแพทยศาสตร์ได้อาศัยโรงพยาบาลหาดใหญ่เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน เนื่องจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง อาจารย์นิมิต รัตนมาศ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยคนแรก ซึ่งเป็นผู้ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกๆ ซึ่งโสต ศอ นาสิกแพทย์ หลายท่านจากหลายสถาบันได้ให้ความกรุณาร่วมแรงร่วมใจช่วยสอนนักศึกษาแพทย์อาทิ เช่น อาจารย์นายแพทย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล อาจารย์นายแพทย์สุนทร อันตรเสน อาจารย์นายแพทย์สมภพ อินทรประสงค์ อาจารย์นายแพทย์เนาวรัตน์ ทองไทย ศาสตราจารย์นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล และคณาจารย์ท่านอื่น ๆ อีกหลายท่าน ซึ่งบุญคุณของท่านเหล่านี้ภาควิชาฯ ยังคงจารึกในประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำของพวกเราชาว มอ. ตลอดไป ภาควิชาโสต นาสิกฯ ได้อาศัยความช่วยเหลือจากอาจารย์พิเศษในการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์สองรุ่นแรก หลังจากนายแพทย์สุเมธ พีรวุฒิ ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ การเชิญอาจารย์พิเศษจึงสิ้นสุดลง
อาจารย์นายแพทย์นิมิต รัตนมาศ และอาจารย์นายแพทย์สุเมธ พีรวุฒิ ได้ร่วมกันสร้างและต่อสู้อุปสรรคต่างๆนานาไม่ว่าด้านการเรียนการสอน การจัดหาครุภัณฑ์ ครุภัณฑ์เริ่มต้นของภาควิชานั้นมีน้อยมาก หรือกล่าวได้ว่าเริ่มต้นจากศูนย์ ครุภัณฑ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน และการบริการเกือบทุกชิ้นส่วน แล้วแต่ยืมหรือหาซื้อด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวทั้งสิ้น ซึ่งหากเทียบกับปัจจุบันภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา มีครุภัณฑ์ที่สมบูรณ์ทุก ๆ ด้านที่ทันสมัยในระดับนานาชาติ
เมื่อต้นปี พ.ศ.2525 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้เปิดดำเนินการได้ในวันแรก อาศัยห้องฉุกเฉินเป็นห้องตรวจผู้ป่วยนอก และห้องผ่าตัดเล็กเป็นห้องผ่าตัดใน การบริการผู้ป่วย รวมทั้งห้องตรวจผู้ป่วยนอกของแผนกหู คอ จมูกแล้วเสร็จ
หน่วยโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา ได้แยกออกจากภาควิชาจักษุ โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2531 โดยมีอาจารย์นายแพทย์นิมิต รัตนมาศ เป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรก โดยมีอาจารย์ที่ปฏิบัติงานเริ่มแรก ได้แก่ อาจารย์นายแพทย์สุเมธ พีรวุฒิ อาจารย์นายแพทย์อารักษ์ ทองปิยะภูมิ อาจารย์นายแพทย์วิทูร ลีลามานิตย์ อาจารย์นายแพทย์ประศาสน์ บุณยพิพัฒน์ อาจารย์แพทย์หญิงสุวรรณา ซึงสนธิพร อาจารย์นายแพทย์กิติ ขนบธรรมชัย อาจารย์นายแพทย์ประเสริฐ ถิ่นนัยธร อาจารย์สาธิต ชยาภัม และอาจารย์ธรรมศักดิ์ ศรีสุข